โรคไข้ซิกาเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus) ซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (flavivirus) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยุงที่เป็นพาหะนำโรคไข้ซิกาเป็นชนิดเดียวกันกับยุงที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) และไข้เหลือง สาเหตุหลักของการติดเชื้อเกิดจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสซิกากัด แต่สามารถติดต่อได้จากทางอื่น เช่น การแพร่ผ่านทางเลือด การแพร่จากมารดาที่ป่วยสู่ทารกในครรภ์หรือระหว่างการคลอด และการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกา
อาการ
อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ มักเป็นไข้ต่ำ ๆ มีผื่นแดงตามบริเวณลำตัวและแขนขา รวมถึงอาจมีผื่นที่ฝ่ามือได้ เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ อาจมีต่อมน้ำเหลืองโต และอุจจาระร่วงซึ่งโดยปกติแล้วอาการเหล่านี้จะเป็นเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง
การรักษา
ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ การรักษาทำได้ด้วย การพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆและรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้หรือบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้ห้ามรับประทานยาแอสไพริน (Aspirin) หรือยากลุ่มลดการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ยา Ibuprofen หรือ ยา Naproxen เป็นต้น เนื่องจากยาบางชนิดเป็นอันตรายสำหรับโรคนี้ โดยอาจทำให้เลือดออกในอวัยวะภายในได้ง่ายขึ้น
การป้องกัน
1. ป้องกันการถูกยุงกัด เช่น สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาวเพื่อปกคลุมผิวหนัง โดยใช้เสื้อผ้าสีสว่าง ทายากันยุงป้องกัน นอนกางมุ้ง ติดมุ้งลวดที่ประตู หน้าต่าง และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน
2. ผู้ได้รับวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสซิกาควรมีการป้องกันที่เหมาะสมหากมีเพศสัมพันธ์ อย่างน้อย 1 เดือน
3. ปรึกษาแพทย์ก่อนจะเดินทางไปต่างประเทศ หรือไปในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
|